วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กฎหมายปลดแอกแยกบริหาร “มัธยมศึกษา”จาก”ประถม”มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเป็น 41 เขต

       "กฏหมายปลดแอกแยกบริหาร มัธยมศึกษาจากประถม มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเป็น 41 เขต" [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1279804317&grpid=01&catid มติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553

        จากประเด็นข่าวกฏหมายปลดแอกแยกบริหาร มัธยมศึกษาจากประถม มีผลบังคับใช้แล้ว เป็น 41 เขต  ให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นว่า จากแยกระบบการบริหารและการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งเดิมอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน นักศึกษาสรุปสาระสำคัญที่แก้ไข และแสดงความคิดเห็นว่า การจัดการศึกษาโดยแบ่งส่วนนี้ได้ประโยชน์อย่างไร ในประเด็นตัวครู  ตัวเด็ก  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และนักศึกษาคิดว่าจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้นอย่างไรให้เหตุผลประกอบคำอธิบาย 

         เนื้อหาข่าว  ผู้สื่อข่าว”มติชน”รายงานว่า  เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม มีการประกาศ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553,    พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคมนี้
         สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อรองรับการแยกเขตพื้นที่การศึกษา 185 เขตทั่วประเทศ ซึ่งมีระบบการบริหารและการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษารวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึ
กษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและไม่เกิดปัญหาในการพัฒนาการศึกษา และจะทำให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
         ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษา โดยกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ
         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้กล่าวถึงเรื่องการแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ครั้งล่าสุดในที่ประชุมสัมมนา “แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ 3 ฉบับ” จัดโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาเตรียมการรองรับการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยยึด 41 ศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาเดิม ให้เป็นเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนมัธยมฯ และส่งเสริมให้โรงเรียนมัธยมฯมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานมากขึ้น
         ส่วนด้านการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนมัธยมฯ จะตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การมัธยมศึกษาขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ส่วนการจะเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลการดำเนินงานในเบื้องต้นก่อน
         ผู้สื่อข่าวข่าวรายงาน การแยกการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาออกจากโรงเรียนประถมศึกษานั้นเป็นผลมาจากการเรียกร้องของฝ่ายมัธยมศึกษา เพราะที่ผ่านมาครูโรงเรียนประถมศึกษามีจำนวนมากกมาว่า ทำให้การการเลือกผู้แทนและผู้บริหารในแต่ละระดับฝ่ายมัธยมมักจะไม่ได้รับเลือก

สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับมีดังนี้
        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษา  แห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๗ การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรมและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาการกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการได้ตามวรรคหนึ่ง กระทรวงอาจจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้
(๑) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาอารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ
(๒) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย
(๓) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ
(๔) การจัดการศึกษาทางไกล และการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา”
        มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคห้าของมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
“ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๓
        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        “มาตรา ๓๓ การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรมและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษามีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
ในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาการกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
         ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาหรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่นตามสภาพการจัดการศึกษาบางประเภท คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจประกาศกำหนดให้ขยายการบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานของเขตพื้นที่การศึกษาหนึ่งไปในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้”   
         มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคห้าของมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖
         “ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษามีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษาสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
         พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๕๓
         มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๕) กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมาจากการเลือกตั้งจำนวนสิบสองคน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูจำนวนห้าคน ซึ่งเลือกจากข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจำนวนสามคน ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจำนวนหนึ่งคน และข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งคนและผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน”
        มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        “มาตรา ๒๑ ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา”
และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา”
        สำหรับแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา แล้วแต่กรณีซึ่งประกอบด้วย
        (๑) ประธานอนุกรรมการซึ่งอนุกรรมการเลือกกันเองจากผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) ในการนี้ให้ถือว่าอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) มีจำนวนเท่าที่มีอยู่
        (๒) อนุกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสองคน ได้แก่ ผู้แทน ก.ค.ศ. และผู้แทนคุรุสภาซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษาด้านกฎหมาย หรือด้านการเงินการคลัง
        (๓) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย และด้านการเงินการคลังด้านละหนึ่งคน
        (๔) อนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี จำนวนสามคน ประกอบด้วยผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นจำนวนหนึ่งคน”
        มาตรา ๕ ให้กรรมการ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๗ (๕) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในการนี้ ให้กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมิให้นับวาระการดำรงตำแหน่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง
        มาตรา ๖ ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับทำหน้าที่เป็น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ถ้ากรณีมีอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ตามมาตรา ๒๑ (๔) คนใดที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้อนุกรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง โดยให้ถือว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาในขณะนั้นมีองค์ประกอบเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระแล้วจึงดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้
       ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญ ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญนั้น มีผลผูกพันและใช้บังคับได้ดังเช่น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
        มาตรา ๗ การใดอยู่ระหว่างดำเนินการหรือเคยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล การดำเนินการทางวินัยและการอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การดำเนินการต่อไปในเรื่องนั้นจะสมควรดำเนินการประการใด และอยู่ในอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรืออ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด