วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กฎหมายปลดแอกแยกบริหาร “มัธยมศึกษา”จาก”ประถม”มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเป็น 41 เขต

       "กฏหมายปลดแอกแยกบริหาร มัธยมศึกษาจากประถม มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งเป็น 41 เขต" [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1279804317&grpid=01&catid มติชนออนไลน์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553

        จากประเด็นข่าวกฏหมายปลดแอกแยกบริหาร มัธยมศึกษาจากประถม มีผลบังคับใช้แล้ว เป็น 41 เขต  ให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็นว่า จากแยกระบบการบริหารและการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ซึ่งเดิมอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาเดียวกัน นักศึกษาสรุปสาระสำคัญที่แก้ไข และแสดงความคิดเห็นว่า การจัดการศึกษาโดยแบ่งส่วนนี้ได้ประโยชน์อย่างไร ในประเด็นตัวครู  ตัวเด็ก  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และนักศึกษาคิดว่าจะดีขึ้นหรือไม่ดีขึ้นอย่างไรให้เหตุผลประกอบคำอธิบาย 

         เนื้อหาข่าว  ผู้สื่อข่าว”มติชน”รายงานว่า  เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม มีการประกาศ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553,    พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคมนี้
         สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ มีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อรองรับการแยกเขตพื้นที่การศึกษา 185 เขตทั่วประเทศ ซึ่งมีระบบการบริหารและการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษารวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึ
กษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและไม่เกิดปัญหาในการพัฒนาการศึกษา และจะทำให้การบริหารและการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น
         ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษา โดยกำหนดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ใช้บังคับ
         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้กล่าวถึงเรื่องการแยกเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ครั้งล่าสุดในที่ประชุมสัมมนา “แนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาใหม่ 3 ฉบับ” จัดโดยสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาเตรียมการรองรับการจัดตั้งเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา โดยยึด 41 ศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษาเดิม ให้เป็นเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับโรงเรียนมัธยมฯ และส่งเสริมให้โรงเรียนมัธยมฯมีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพในการบริหารงานมากขึ้น
         ส่วนด้านการบริหารงานบุคคลของโรงเรียนมัธยมฯ จะตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การมัธยมศึกษาขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ ส่วนการจะเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาในอนาคตหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลการดำเนินงานในเบื้องต้นก่อน
         ผู้สื่อข่าวข่าวรายงาน การแยกการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาออกจากโรงเรียนประถมศึกษานั้นเป็นผลมาจากการเรียกร้องของฝ่ายมัธยมศึกษา เพราะที่ผ่านมาครูโรงเรียนประถมศึกษามีจำนวนมากกมาว่า ทำให้การการเลือกผู้แทนและผู้บริหารในแต่ละระดับฝ่ายมัธยมมักจะไม่ได้รับเลือก

สำหรับรายละเอียดของ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับมีดังนี้
        พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓
        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๗ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษา  แห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๓๗ การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรมและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสภาการศึกษา มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาการกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในกรณีที่เขตพื้นที่การศึกษาไม่อาจบริหารและจัดการได้ตามวรรคหนึ่ง กระทรวงอาจจัดให้มีการศึกษาขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้เพื่อเสริมการบริหารและการจัดการของเขตพื้นที่การศึกษาก็ได้
(๑) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญาอารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ
(๒) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จัดในรูปแบบการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัย
(๓) การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับบุคคลที่มีความสามารถพิเศษ
(๔) การจัดการศึกษาทางไกล และการจัดการศึกษาที่ให้บริการในหลายเขตพื้นที่การศึกษา”
        มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคห้าของมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๕
“ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๓
        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        “มาตรา ๓๓ การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ยึดเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงถึงระดับของการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวนสถานศึกษา จำนวนประชากร วัฒนธรรมและความเหมาะสมด้านอื่นด้วย เว้นแต่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการอาชีวศึกษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษามีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
ในกรณีที่สถานศึกษาใดจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาการกำหนดให้สถานศึกษาแห่งนั้นอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้ยึดระดับการศึกษาของสถานศึกษานั้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
         ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาหรือมีเหตุผลความจำเป็นอย่างอื่นตามสภาพการจัดการศึกษาบางประเภท คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอาจประกาศกำหนดให้ขยายการบริการการศึกษาขั้นพื้นฐานของเขตพื้นที่การศึกษาหนึ่งไปในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นได้”   
         มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคห้าของมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖
         “ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่าจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเขตพื้นที่การศึกษาใด ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”
มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยคำแนะนำของสภาการศึกษามีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อกำหนดหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่การศึกษาสำหรับเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
         พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๕๕๓
         มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๕) ของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๕) กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมาจากการเลือกตั้งจำนวนสิบสองคน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูจำนวนห้าคน ซึ่งเลือกจากข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจำนวนสามคน ข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจำนวนหนึ่งคน และข้าราชการครูสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมจำนวนหนึ่งคนและผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฝ่ายละหนึ่งคน”
        มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
        “มาตรา ๒๑ ให้มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา”
และคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเรียกโดยย่อว่า “อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา”
        สำหรับแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา แล้วแต่กรณีซึ่งประกอบด้วย
        (๑) ประธานอนุกรรมการซึ่งอนุกรรมการเลือกกันเองจากผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) ในการนี้ให้ถือว่าอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) มีจำนวนเท่าที่มีอยู่
        (๒) อนุกรรมการโดยตำแหน่งจำนวนสองคน ได้แก่ ผู้แทน ก.ค.ศ. และผู้แทนคุรุสภาซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษาด้านกฎหมาย หรือด้านการเงินการคลัง
        (๓) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งคัดเลือกจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย และด้านการเงินการคลังด้านละหนึ่งคน
        (๔) อนุกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา แล้วแต่กรณี จำนวนสามคน ประกอบด้วยผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนข้าราชการครูจำนวนหนึ่งคน และผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่นจำนวนหนึ่งคน”
        มาตรา ๕ ให้กรรมการ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๗ (๕) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ในการนี้ ให้กรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมิให้นับวาระการดำรงตำแหน่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง
        มาตรา ๖ ให้ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับทำหน้าที่เป็น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ถ้ากรณีมีอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. ตามมาตรา ๒๑ (๔) คนใดที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้อนุกรรมการผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง โดยให้ถือว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาในขณะนั้นมีองค์ประกอบเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนครบวาระแล้วจึงดำเนินการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้
       ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการให้มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้ ก.ค.ศ.แต่งตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญ ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ. วิสามัญนั้น มีผลผูกพันและใช้บังคับได้ดังเช่น อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา
        มาตรา ๗ การใดอยู่ระหว่างดำเนินการหรือเคยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เฉพาะเรื่องการบริหารงานบุคคล การดำเนินการทางวินัยและการอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา การดำเนินการต่อไปในเรื่องนั้นจะสมควรดำเนินการประการใด และอยู่ในอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรืออ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด

โพลหนุนยกเครื่องกฏหมายทำแท้ง"นายกฯ"ห่วง

"โพลหนุนยกเครื่องกฏหมายทำแท้ง" [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.rssthai.com/reader.php?t=local&r=17268
  หนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2553

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ให้ผู้เรียนอ่านเนื้อหาข่าว และสรุปในฐานะนักศึกษาที่เรียนวิชากฏหมายการศึกษา ผู้เรียนเป็นนักศึกษาวิชาชีพครูจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาและป้องกันนักเรียนที่อยู่ในความดูแลอย่างไร  เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และรู้เท่าทันต่อการเหตุการณ์นี้ขึ้น เขียนอธิบายแนวคิดและวิธีการป้องกันและแก้ไขมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมไทย

เนื้อหาข่าว 
           “มาร์ค”ห่วงการทำแท้งชี้เป็นปัญหาใหญ่ สั่งให้ศึกษาหาทางรณรงค์ โพล หนุนยกเครื่องกม.ทำแท้ง"
วันนี้ 22 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม น.ส.รัญจกร จันทมนัส ผู้ช่วยพยาบาล ที่ลอบเปิดคลินิกเถื่อนรับทำแท้ง พร้อมกับนำซากศพทารกที่ถูกทำแท้งไปให้ นายสุเทพ ชบางบอน กับนายสุชาติ ภูมี สัปเหร่อวัดไผ่เงินโชตนาราม ย่านบางโคล่ ที่ถูกจับกุมเช่นยกันเผาทำลาย แต่เตาเผาศพเกิดชำรุดทำให้ต้องนำซากศพไปเก็บไว้ในช่องเก็บศพของโกดังเก็บศพภายในวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจไปค้นเจอซากศพทารกทั้งหมด 2002 ศพ จนซีเอ็นเอ็นเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก ภายหลังมีประชาชนที่นิยมเล่นหวยพากันนำสิ่งของไปเซ่นไหว้ที่โกดังเก็บศพของวัดไผ่เงินเพื่อหาเลขเด็ดไปสู้กับเจ้ามือหวยใต้ดิน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
           ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ถึงกรณีพบซากทารก 2002 ศพ ที่วัดไผ่เงินโชตนาราม ว่า ชัดเจนว่ายังมีปัญหาเรื่องการทำแท้งและการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ซึ่งเราต้องช่วยกันทำให้ปัญหานี้ไม่เกิดขึ้นในสังคมของเรา ความจริงตั้งแต่ปีที่แล้ว ตนได้ตั้งประเด็นเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมของเด็กและเยาวชนว่ากำลังเป็นปัญหาใหญ่ และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับหน่วยงานอื่น เร่งรณรงค์เรื่องค่านิยมต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ที่ผ่านมาเรามักจะเข้าไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มเสี่ยงที่แท้จริง การรณรงค์ส่วนใหญ่จึงทำแบบทั่วไป  ขณะนี้ตนได้ให้ศึกษาเพื่อทำให้เราเข้าตรงถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มเสี่ยงที่มีปัญหาได้ พร้อมๆกับต้องปรับปรุงเรื่องการศึกษาให้เด็กในลักษณะครอบครัวศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมตอนปลายไปถึงชั้นมัธยม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ไม่ให้ลุกลามบานปลายหรือเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย
           “ส่วนกฎหมายการทำแท้งนั้น ผมขอยืนยันว่าในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว คือมีความยืดหยุ่นพอสมควร โดยหลักการทำแท้งถือว่าผิดกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นให้เพื่อประโยชน์เรื่องการดูแลสุขภาพ โดยแพทยสภาได้ออกหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแก้ไข แต่สิ่งที่เราจะต้องช่วยกันคือให้ความรู้ และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในหมู่เด็กและเยาวชน”นายกฯ กล่าว
           ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณโกดังเก็บศพหลังเมรุวัดไผ่เงินโชตนาราม ถนนจันทน์ ซอย 43 แยก 22 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม ซึ่งเป็นสถานที่ซุกซ่อนซากทารก 2002 ศพ มีประชาชนทยอยเดินทางมาจุดธูปเทียนวางเครื่องเซ่นไหว้ทั้งอาหารคาวหวาน ขนม นม ผลไม้ และของเล่นอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะหน้าช่องเก็บศพหมายเลข 9 หมายเลข 10 และหมายเลข 17 ซึ่งเป็นที่เก็บซากทารกพบว่ามีเครื่องเซ่นไหว้จำนวนมากวางไว้กลาดเกลื่อน
           ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.วัดพระยาไกร ได้เข้าตรวจสอบที่ป่ากล้วยริมคลองติดกำแพงหลังวัดไผ่เงินฯ หลังจากได้รับแจ้งทางทรศัพท์ว่า พบซากทารกอีก 20 ศพ ถูกนำไปฝังเอาไว้บริเวณดังกล่าว แต่เมื่อตรวสอบอย่างละเอียดแล้วกลับไม่พบ คาดว่าเป็นการกระทำของผู้ไม่หวังดีที่สร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย
           จากนั้นเมื่อเวลา 10.30 น. วันเดียวกันนี้ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่วัดไผ่เงินฯเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้กับ พระครูวิจิตร สรคุณ เจ้าอาวาสวัดไผ่เงินโชตนาราม แต่เนื่องจากเจ้าอาวาสอาพาธตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงมอบหมายให้ พระทิวา ธรรมชัยโย เลาขานุการมาพบแทน โดย นายองอาจ ใช้เวลาพูดคุยนาน 30 นาที ก่อนจะนำน้ำอัดลม นมถั่วเหลือง และนมกล่องไปจุดธูปเซ่นไหว้ที่หน้าโกดังเก็บศพของวัดด้วย
           นายองอาจ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ จะมีพิธีทำบุญครั้งใหญ่นิมนต์พระสงฆ์ทั้งวัดไผ่เงินฯที่มีกว่า 40 รูป มาสวดมาติกา บังสุกุล และถวายสังฆทานให้กับทารกทีเสียชีวิต โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป หากประชาชนท่านใดอยากร่วมทำบุญด้วยก็ขอให้เดินทางมาในวันดังกล่าว ทั้งนี้ ตนจะเดินทางมาหารือแนวทางการดำเนินงานร่วมกับทางวัด สำนักงานเขตบางคอแหลมและ สน.วัดพระยาไกร อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ในเวลา 11.00 น. วันที่ 22 พ.ย.นนี้
           เมื่อถามว่า พอคดีสิ้นสุดจะทำพิธีฌาปนกิจทารกทั้ง 2002 ศพหรือไม่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบว่า คงต้องรอทางนิติเวชชันสูตรให้เรียบร้อยเสียก่อนจึงจะปรึกษากับทางพระชั้นผู้ใหญ่ของวัดไผ่เงินอีกครั้ง เท่าที่ลองสอบถามข้อมูลทราบว่าคนโบราณมีความเชื่อว่าไม่ให้เผาศพเด็กทารกเนื่องจากขณะที่เขามาเกิดยังเพียบพร้อมด้วยศีล 5 ประการ ยังไม่มีฟันแม้กระทั่งพูดจาโป้ปดก็ยังทำไม่ได้ แต่หากมีความจำเป็นต้องฌาปนกิจกันจริงๆ ก็ต้องปรึกษากับหลายๆฝ่ายเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยกันต่อไป
           ด้าน พ.ต.อ.เมธี รักพันธุ์ ผกก.สน.วัดพระยาไกร กล่าวว่า หลังจากที่ นายสุเทพ ชะบางบอน และนายสุชาติ ภูมี สองผู้ต้องหาที่ศาลให้ประกันตัวออกมาแล้วก็กลับไปพักอยู่ในวัดเหมือนเดิม แต่เพื่อความไม่ประมาทตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนคอยเฝ้าติดตามพฤติกรรมอยู่ตลอดเพราะเกรงว่าอาจหลบหนี ส่วนกรณีที่วัดไผ่เงินจะทำบุญครั้งใหญ่ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ คาดว่าจะมีประชาชนมาร่วมงานหลายพันคน จึงจัดเตรียมกำลังตำรวจในโรงพักพร้อมทั้งอาสาสมัครกว่า 100 นาย มาคอยอำนวยความสะดวกและช่วยกันสอดส่องดูแลมิจฉาชีพที่อาจแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่
          ผู้สื่อข่าวรายงานมาด้วยว่า ขณะนี้เริ่มมีนักเสี่ยงโชคจากต่างจังหวัดเดินทางมาที่วัดไผ่เงินพร้อมกับนำเครื่องเซ่นไหว้มาจุดธูปขอหวยที่หน้าโกดังเก็บศพของวัดกันบ้างแล้ว โดยนักเสี่ยงโชคเชื่อกันว่าหากขอโชคลาภกับวิญญาณเด็กจะสมหวังเร็วขึ้นเนื่องจากมีอาถรรพ์แรงกว่าวิญญาณประเภทอื่นๆ
          “อัศวิน”สั่งตรวจจับคลินิกทำแท้ง  ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ปรึกษา (สบ.10) รรท.ผบช.ภ.1 ได้กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวลือว่า ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี มีคลินิคทำแท้งเถื่อนกระจายอยู่เป็นจำนวนมากว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.วัฒนา เขตร์สมุทร ผบก.ภ.ปทุมธานี ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนลงพื้นที่หาข่าวแหล่งที่ตั้งรวมถึงการเปิดให้บริการของคลีนิคทำแท้งเถื่อนแล้ว หากพบเจอจะดำเนินการตามกฏหมายทันทีโดยไม่มีการละเว้นใดๆทั้งนั้น แต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการกระทำผิดแต่อย่างใด
           นายสาธิต  ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพบซากทารกที่วัดไผ่เงินฯว่า ถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ตรงจุด จำเป็นต้องมีกฎหมายทำแท้งที่ถูกต้อง  ด้วยความสมัครใจ และการร้องขอโดยมีเหตุจำเป็น ตนจะร่วมกับกลุ่มส.ส.ที่มีความคิดเห็นตรงกันศึกษาข้อมูลผลกระทบ และสิ่งที่ได้รับเพื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหน้า โดยจะใช้ชื่อว่า “กฎหมายทำแท้งโดยถูกต้องด้วยความสมัครใจและร้องขอโดยมีเหตุจำเป็น” 
           นายสาธิต กล่าวต่อว่า เบื้องต้นมีหลักการดังนี้  คือ ให้ผู้ปกครองของผู้เยาว์  หรือผู้ตั้งครรภ์ สมัครใจและร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ ว่าตนเองมีความจำเป็นที่จะขอทำแท้ง ยกตัวอย่าง  1.มารดาและบิดาของทารกไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูเด็กหลังคลอดได้เนื่องจากวัย ฐานะทางการเงิน สภาพแวดล้อม  2.เพราะถูกคนที่เป็นบิดาทอดทิ้ง และมารดาไม่มีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตร 3. การถูกกระทำละเมิดกฎหมายด้วยการข่มขืน  จนตั้งครรภ์  และสมัครใจไม่เอาทารกไว้   4.ทารกในครรภ์มีปัญหาโรคติดต่อ  5. ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ  เกิดมาแล้วอาจพิการ  หรือไม่ปกติ โดยหลักการในข้อ.3-5  อาจจะมีกฎหมายกำหนดไว้แล้ว  แต่ต้องนำมารวมในฉบับเดียวกัน
           ส่วน นายอิสระ  สมชัย รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของนุษย์  กล่าวว่า  ตอนนี้ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาไว้ 6 มาตรการ  โดยจะประชุมกันในวันที่ 22 พ.ย.นี้  ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกด้านเมื่อผ่านที่ประชุมแล้วจะนำเข้าเสนอต่อครม.  และเตรียมผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ  แต่สิ่งที่สำคัญคือการเน้นให้ความรู้กับเด็กเรื่องเพศศึกษาเพราะต่อไปนี้เรื่องเพศศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าอาย  แต่ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้การป้องกันที่ถูกต้อง  และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
สวนดุสิตโพลพบคนตกตะลึง
           ขณะที่ สวนดุสิตโพล สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับเสียงสะท้อนกรณีการทำแท้งจากการพบซากทารกที่เกิดจากการทำแท้งครั้งนี้จากประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล, 1,458 คน  ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย.ที่ผ่านมา  โดยข่าวการพบซากศพทารก 2002 ศพ ที่วัดไผ่เงินสร้างความตกตะลึงและตกใจว่าทำไมถึงมีคนทำแท้งกันมากมายขนาดนี้ถึง 62.18 %  และประชาชนคิดว่าการทำแท้งเป็นสิทธิส่วนบุคคล และมาจากความจำเป็นของแต่ละคน 47.17 % ไม่เป็น 22.64% และไม่แน่ใจ 30.19%
           สำหรับกรณีที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตรงกับปัญหานี้ออกมาใช้ ประชาชนเห็นด้วย 65.62% ไม่เห็นด้วย 12.66% ไม่แน่ใจ 21.72 % ประชาชนคิดว่าสภาพสังคมย่ำแย่ลงอย่างมาก ทำให้เกิดพฤติกรรม การลอกเลียนแบบอย่างผิดๆ 34.38% สังคมไทยมีจิตใจตกต่ำ แย่ลง ขาดคุณธรรมและจริยธรรม 32.81% ส่วนแนวทางป้องกันแก้ไขเรื่องนี้ ประชาชนคิดว่าการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษา การป้องกัน การคุมกำเนิด ให้เหมาะสมกับเด็กตามระดับชั้นเรียนมีจำนวน 36.09 % พ่อแม่คนในครอบครัวดูแลเอาใจใส่อบรมบุตรหลานอยางใกล้ชิด 29.14% ปราบปรามคลินิกทำแท้งเถื่อน 15.50%

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง









ใบงานครั้งที่ 1

ให้นักศึกษาอ่านและเขียนลงในกระดาษคำตอบดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ คำว่า"คุณภาพ" ของผู้เรียนที่ พระราชบัญญัติการศึกษา เขียนไว้ให้พิจารณาจากสิ่งใดบ้าง  อย่างไร จงอธิบาย

ข้อ 2 มีปัจจัยใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคุณภาพผู้เรียน  ให้นักศึกษาเลือกปัจจัยหลัก 3 ปัจจัยและอธิบายถึงวิธีการหรือแนวทางปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อให้คุณภาพของผู้เรียนจากข้อ 1 เกิดขึ้นกับผู้เรียนมากที่สุด

ข้อ 3 พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 เป็นกรอบนโยบายและแนวทางแห่งรัฐในการปฏิรูปการศึกษาของชาติโดยหน่วยงานทางการศึกษาของประเทศได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่กำหนดขึ้นดังกล่าว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน (ปี 2533) นับเวลาได้ประมาณ 11 ปี
          จากผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภา ได้สรุปสาระสำคัญของสภาพการจัดการศึกษาของไทยในทศวรรษที่ผ่านมาไว้อย่างไรบ้าง  มีเหตุผลที่จะยอมรับได้หรือไม่อย่างไรอธิบาย ตามประเด็นต่อไปนี้  3.1) การศึกษาขั้นพื้นฐาน
                          3.2) การอาชีวศึกษา
                          3.3) ระดับอุดมศึกษา

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คำอธิบายรายวิชากฎหมายและการประกันคุณภาพการศึกษา

หลักสูตร  ครุศาสตรบัณฑิต
กลุ่มวิชา  ความรู้วิชาชีพครู
รหัสวิชา  1066101  กฎหมายและการประกันคุณภาพการศึกษา (Education Law and Quality Assurance)
จำนวนหน่วยกิต  2(1-2-3) นก.  ภาคเรียนที่ 2  ปีการศึกษา 2553  เวลาเรียน  วันเสาร์(08.00-10.30 น.)
ห้องเรียน 628, ห้องประชุมครุศาสตร์ชั้น 4
อาจารย์ผู้สอน  ดร.จิต นวนแก้ว อาจารย์อภิชาติ วัชรพันธุ์
คำอธิบายรายวิชา
                 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  หลักการ  ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา ระบบและกระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา  รูปแบบของการประกันคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ความสัมพันธ์ระหว่างการประกันคุณภาพการศึกษากับมาตรฐานการศึกษา  การตรวจสอบและการประเมินการประกันคุณภาพ  เทคนิคและการจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา
วัตถุประสงค์ของรายวิชา
                1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง  กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
                2. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษา
                3. เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักถึงความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
                4. เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษา
เนื้อหาประกอบด้วย
                กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประกันคุณภาพ  มาตรฐานและคุณภาพการศึกษา  กระบวนการประกันคุณภาพการศึกษา  การประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน การตรวจสอบการประกันคุณภาพการศึกษา  การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา
กิจกรรมการเรียนการสอน
               กิจกรรมกลุ่ม  อภิปรายกลุ่ม  นำเสนอ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากสื่อและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ฝึกปฏิบัตินำเสนอผลงาน
ตารางการจัดการเรียนรู้
สป.1   ชี้แจงแนวการสอนรายวิชา กำหนดข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน
           แนวการวัดและประเมินผล (บรรยาย  อภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้)
สป.2   พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2545
          และ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3  (กลุ่มที่ 1)
สป.3   พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545
          พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546(กลุ่ม 2)
สป.4   พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546
          พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547(กลุ่ม 3)
สป.5   (4-5 ธค.53) ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
สป.6   มาตรฐานการศึกษาของชาติ, มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย,มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สป.7   มาตรฐานอาชีวศึกษา ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา(กลุ่ม 4)
สป.8  การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน,รูปแบบ/แนวทางทางดำเนินการ(กลุ่ม 5)
สป.9   (1-2 ม.ค.54) ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
สป.10 การจัดทำรายงานการประเมินตนเอง SAR,SSR(กลุ่ม 5)
สป.11 การจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา แนวคิดหลักการ/(กลุ่ม 6)
สป.12  แนวทางและเทคนิค(กลุ่ม 6)
สป.13  (29-30 ม.ค.54) ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
สป.14  งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา
สป.15  สอนชดเชย
สป.16  สอบปลายภาค

การวัด ประเมินและเกณฑ์ตัดสินผลการเรียน
                 1. การเข้าเรียนและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน (10 คะแนน)
                 2. งานกลุ่ม
                     ศึกษาค้นคว้า และนำเสนอรายงานต่อชั้นเรียน (20 คะแนน)
                     ศึกษาค้นคว้า และทำรายงานเสนอผู้สอน (20 คะแนน)
                 3. งานเดี่ยว
                     ศึกษาค้นคว้างานวิจัยอย่างน้อย 2  เรื่อง (15 คะแนน)
                     ศึกษาค้นคว้าบทความ (15 คะแนน)
                 4. สอบปลายภาค (20 คะแนน)
                     รวม 100 คะแนน
เกณฑ์การตัดสินผลการเรียนรู้
คะแนนร้อยละ    ระดับคะแนน  ค่าคะแนน  ระดับผลการเรียน
80-100                     A                 4.00           ดีเยี่ยม
76-79                       B+               3.50           ดีมาก
70-75                       B                 3.00           ดี
66-69                       C+              2.50            ดีพอใช้
60-65                       C                2.00            พอใช้
56-59                       D+              1.50            ปรับปรุง  
50-55                       D                1.00            ปรับปรุงด่วน
0-49                         E                 0.00            ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ